วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

กระบี่ 5 เวิ้ง (ตอนที่1)

                                                      (เครดิตภาพ pantip.com )

หุบเขา หลุนเจิ้น ตั้งตระหง่านเสียดฟ้า  ธารน้ำตกจาก หุบเหว ไส้ขาด ยังหลั่งล้นประดุจ น้ำนมมารดาแห่งสวรรค์
หมอกยามใกล้อรุณโรยปกคลุมสิงขร กิ่งสนสะบัดร่า สลัดหยดน้ำค้างให้พร่างพรมพฤกษาเบื้องล่างให้แช่มชื้น
วิหกทะยานฟ้า บินโบย ประดุจดรุณีในชุดขาว ร่ายรำในนภาศ 
ทัศนียภาพยามย่ำรุ่ง ช่างเหมือนภาพจากปลายพู่กันอันบรรจงวิจิตร
ในลำน้ำที่ทอทอดผ่านขุนคีรี ปรากฏไอกรุ่น ของละอองน้ำ ลอยอยู่เหนือนที  ระลอกน้ำลูกแล้วลูกเล่า ระบำเป็นริ้วสาย
ควันหมอกแห่งอรุณรุ่ง ระคนกับไอพุ่งพวยจากแม่น้ำที่ไหลเอื่อย  เสมือนม่านแห่งสรวงสวรรค์ ที่ฉาบทาทั่วสารทิศ

ท่ามกลางบรรยากาศงดงาม และสงบเงียบ  นาวาลำเล็กล่องผ่านสายน้ำอย่างเงียบเชียบ 
มีบุรุษหนึ่งสวมเสื้อคลุมสีดำสวมหมวกฟางปกคลุมใบหน้า
บุคลิกเยือกเย็น ยิ่งยวดกว่าสายน้ำเบื้องล่าง  มิผิดกับภูตพราย ในสายหมอก

บุในกาลแห่งอาทิตย์ใกล้อุเทนบุรุษนั้นยืนจับไม้พายเรือแน่น นิ่งงัน
ปล่อยให้หัวเรือแล่นผ่านน่านน้ำไปตามแรง นานๆ ครั้งถึงจะมีไอ
จากลมหายใจพวยพุ่งจากปากและจมูกด้วยอากาที่เย็นเยือก
บุรุษนิรนาม แท้จริงแล้ว คือ  มังกรเดียวดาย  เจ้าของ เพลงกระบี่  5 เวิ้งว้าง  ที่โด่งดังไปทั่วยุทธภพ  ด้วยนิสัยสันโดษ
จึงแสวงหาความสงบแห่งธรรมชาติ หลีกเว้นจากความวุ่นวายในยุทธจักร   เพลานี้ ด้นด้นมาถึงหุบเขาหลุนเจิ้น
เพียงชั่วอึดใจบุรุษผู้เยือกเย็น ก็หันหัวเรือเข้าฝั่ง
  บนฝั่งนั้นมีผู้ลึกลับนั่งตกปลาอยู่ ท่าทางลึกลับเหลือคณามาตรแม้นว่า ไม่เป็นชาวประมงเยี่ยงสามัญชน
คงเป็นจอมยุทธผู้เจนจบ เพราะท่าทีที่นั่งก้มหน้าตกปลาดูลึกลับมีเลศนัย 
เพียงแค่ มังกรเดียวดาย ก้าวเท้าลงเหยียบพื้นดิน  พลันเสียงทุ้มลึก จากชาวประมงลึกลับ ก็ดังขึ้นประจวบเหมาะ
“ วิหกยังร่อนเป็นฝูงโบยบิน  มังกรใยผกผินไร้หงส์คู่ "
บุรุษฉายา มังกรเดียวดาย ชงักผ่าเท้า เหลือแลไปยัง ชาวประมงนิรนาม พลางตอบ
  ฟ้าเวิ้งว้าง ดินไร้ไมตรี ปณิธานยากบรรลุ รักยากคลาย สะพายกระบี่เดียวดาย กายโดดเดี่ยว

ชีวิตหนึ่งเดียว ไร้ซึ่งใยดี.. ไม่ทราบว่าสหายท่าน มีนามกรเช่นไร”
“ ฮ่า ๆๆ...คิดมิถึง  นอกจากวรยุทธเยี่ยมแล้ว  ปณิธาน มังกรเดียวดาย ช่างสูงส่ง “
ชาวประมงลุกขึ้นยืนหันหน้ามาทางคู่เจรจาพลาง ประสานมือคำนับ
 “ ปณิธานของข้าคือ คือกระบี่ “ 

ชาวประมงเลิกเสื้อคลุมทิ้ง เผยให้เห็นกระบี่ยาวร่วม 8 แปดเซี๊ยะ ด้วยท่าทางที่ว่องไวเกินกว่า จะเป็นสามัญชน
“ รับมือ !
เสียงตวาดก้องขุนเขา พลันจอมยุทธลึกลับก็ พลิกกระบี่ รัศมีวูบวาบเข้าจูโจม มังกรเดียวดาย
หากเป็นผู้เพิ่งท่องยุทธภพมามินาน คงประหวั่นพรั่นพรึงไม่น้อย แต่กับจอมยุทธผู้เจนจบในวงการมานานนับ 10 ปี
กลับไม่รุ้สึกสะทกสะท้าน  เพียงแค่เกร็งลมปราณ เบี่ยงกายหลบ
ถีบผ่าเท้าด้วยวิชาตัวเบากระบวนท่า “ มังกรร่อนลม” จอมยุทธชื่อก้อง ก็ลอยตัวออกห่างรัศมีกระบี่ของคู่ต่อสู้ไปหลายวา

ไม่ทันที่จอมยุทธชื่อก้องจะ โครจรลมปราณเพื่อปรับกระบวนท่า ผู้จูโจมก็พลิกกระบี่ ด้วยท่วงท่าอันเหี้ยมเกรียม
เข้าปะทะหมายมั่น เผด็จศึกในกระบวนเดียว  จอมยุทธผู้เย็นเยือก สะบัดกระบี่ป้องปราม เข้าปัดป้อง เสียงศาสตรา
กระทบกันดั่งฟ้าคำรณมิอาจจำแนก  เวลาชั่วลัดนิ้ว มังกรเดียวดาย ทะยานกายขึ้น 5 เซี๊ยะ
ม้วนตัวฟาดกระบี่ด้วยกระบวนท่าโจมตีด้านบน พุ่งพลังที่ปลายกระบี่ ทำลายกระบวนท่าของฝ่ายตรงข้าม 
ทำเอาชาวประมงลึกลับ กระเด็นดอนถอยหลังโครจรปรับลมปราณแทบไม่ทัน สุมทุมพุ่มไม้ที่อยู่ใกล้ ใบปลิดปลิว
เพราะอาณุภาพ กระบวนยุทธ “ มังกรทะยาน”
“ คาดไม่ถึง วรยุทธกระบวนนี้จะลึกล้ำนัก “
ชายชาวประมง ทิ้งกระบี่ลง  รีบเอามือ หอบกางเกง เพราะกลัวจะหลุดกองกับพื้น ด้วยท่าฟาดกระบี่เมื่อกี้
มิได้มุ่งหมายจุดสำคัญในร่างกาย หากแต่เป็น หูรูดกางเกงอาภรณ์ของคู่ต่อสู้
“ ไม่ทราบว่า สหายจะยอมเอ่ยนามให้ข้าทราบได้หรือไม่ “
มังกรเดียวดายลดกระบี่ เจรจา เมื่อเห็นคู่ต่อสู่หมดท่า ห่วงแต่กางเกง   ชาวประมงยิ้มร่า หน้าซีดเป็นไก่ไหว้เจ้า
“ ข้ามีนามว่า เสี่ยวเล่ออาภรณ์แดง   ข้ามาตามทวงหนี้ ตามคำสั่งของสำนักใหญ่ “
“ ฮืมม..หนี้อะไร  ถึงได้ตามทวงนัก แม้ยามข้ามาปลีกวิเวก “
 จอมยุทธใหญ่ชักกระบี่เข้าฝักช้าๆ  เพื่อฟังคำตอบ
“ หนี้ ธ.ก.ส. ! "
!....!..!..!!!!

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

อ่อมเขียดน้อย



ชื่อพื้นบ้าน  อ่อมเขียดน้อย
ชื่อภาษาไทย  อานนท์พลิกตัว
ภาษาอังกฤษ   Wrath of Heaven
สวัสดีครับพี่น้อง  มื้อนี้ พ่อลุงเติม เลาไป"ล่องเขียดน้อย" มาได้โพสต์ รูปมาให้ บ่าวปิ่นลม สะออน
ก็เลยเสนอเมนูสุดยอด ของอีสานบ้านเฮา ให้พี่น้องได้ ม่วนซื่น ม่วนแซบนำกัน
บางคนไม่รู้จัก "ปลาอานนท์ "  ต้องเล่าให้กันฟังก่อน
ตามคติความเชื่อ ไตรภูมิ ว่ากันว่า
ในมหาสมุทรสีทันดร
ที่อยู่ในโลกนี้ เบื้องล่าง
ที่ค้ำมหาสมุทร คือ "ปลาอานนท์"
ตัวยิ่งใหญ่มหึมา
รองรับก้นมหาสมุทร
 

เมื่อใดที่ปลาอานนท์พลิกตัว จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 
สิงห์สา ลาสัตว์ต่างๆต้องประสบภัยพิบัติ ตายราบคาบ
ชนิดเรียกว่า มหันตภัย เลยทีเดียว

 ปกติเมนูนี้ ชาวอีสานบ้านเฮาทำกินกันในฤดูแล้ง  เมื่อน้ำแห้งขอด เหลือเพียงลำน้ำใหญ่
ลำห้วยใหญ่ ที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชาวท้องถิ่น    เมื่อแหล่งอาหารหายาก
จึงต้องหา ไต้เขียดน้อย  ล่องเขียดน้อย  ส่อนเขียด  และ สารพัดแมลงในน้ำมากิน
พบเจอทั้งแมลง ทั้งเขียด ทั้งปูปลาน้อย สารพัดสัตว์  ผสมกันไปตามแต่สิได้ 

นำมาทำแกงอ่อมกินกันตามครัวเรือน  เกิดเป็นวิถี ที่แตกต่างจาก คนทางลุ่มที่มีน้ำตลอดปี
กลายมาเป็น อ่อมเขียดน้อย สัมมะปิ 
ส่วนประกอบของเมนู
1.เขียดน้อย  แมงระงำ ปูน้อย ปลาน้อย แมงตับเต่า ฯลฯ
2.ผักชี(ลาว) ผักอีตู่  หรือผักส้มขม  ผักไส้ไก่ หาได้ยิ่งดี
3.ผักบั่ว (ต้นหอม)
4.พริก
5.หัวซิงไค  หัวบักบั่ว (หัวหอม)  กระเทียม
6.ข้าวคั่ว
7. ปลาแดก
เขียดน้อย  (Microhyla heymonsi )  เขียดบักแอ๋  (Microhyla ornata )  เขียดขาคำ (Microhyla pulchra)
เขียดทราย  (
Occidozyga martensii )  เขียดจะนา    (Occidozyga lima )
รวมๆกันแล้ว เรียกว่า เขียดน้อย ซึ่งเป็นดัชนีวัดความหลากหลายทางชีวภาพ ของท้องถิ่น
วัดความสามารถของธรรมชาติ และ วัฏจักรน้ำ ของแผ่นดินอีสาน


ซุมเขียดน้อยชนิดต่าง ๆ ที่กล่าวมา สามารถนำมาเป็นอาหารได้
ยกเว้น  เขียดบักหมื่น (
Marten's puddle frog)  บ่นิยมเอามากิน เนื่องจากมีพิษอ่อน ๆ

บรรดาเขียดน้อยที่กล่าวมาทั้งหมด  ในประเทศไทย ยังบ่มีการศึกษาวิจัย มีเพียงฝรั่งมังค่า
ผู้เล็งเห็นคุณค่าต่อระบบนิเวศน์ บันทึกชนิด และข้อมูลขั้นต้นไว้เท่านั้น  องค์ความรู้ปฐมภูมิ
ของชาวบ้านในเรื่องนี้ ยังไม่มีการต่อยอด ให้เจริญก้าวหน้า เพื่อปรับใช้กับวิถีที่กำลัง เปลี่ยนแปลง

วิธีประกอบอาหาร
1. ล้างเขียดน้อย และ แมลงต่าง ๆ ให้สะอาด
2. ตั้งไฟ ตั้งหม้อแกงใช้ไฟอ่อนๆ  ( ยอดไฟ)
3. ตำ หัวซิงไค หัวหอม พริก กระเทียม
4. พอน้ำเดือด เหลือน้ำพอ เอ๊าะเจ๊าะ เอาเขียดน้อยลง
5. เอาเครื่องแกงที่ตำเสร็จ  ลงคนให้ทั่ว
6. คั่วจนแกงเกือบน้ำแห้ง  จนกลิ่นฟุ้งกระจาย
7. เติมน้ำลงไป เติมเครื่องปรุง
8. เอาข้าวคั่วลงไป ใส่ปรุงรส ( ปลาแดก)
9. เอาบรรดาผัก ลงใส่    รอให้ผักยุบ เป็นอันเสร็จ
รสชาติของอาหารเมนูนี้ ช่างน่าอัศจรรย์  ทั้งปูน้อย ปลาน้อย เขียดน้อย แมลงน้อย ๆ
ผสมกับผักท้องถิ่น เช่น ผักส้มขม ผักไส้ไก่  ผักชีลาว ผักบั่ว  หวานขม อมแซบหอม
ดังชิมรสชาติท้องถิ่น ของอีสานขนานแท้ ดังแลเห็นตัวตน อยู่ฟากท่ง

เมื่อพิจารณาอาหารการกิน ของคนอีสานแล้ว พบว่า ส่วนใหญ่พึ่งพา และมาจากระบบนิเวศน์ท้องถิ่น
ปัญหาปากท้องคนอีสานก็คือ ระบบนิเวศน์ท้องถิ่น ที่สูญเสียความสามารถในการอุ้มชูชีวิตมนุษย์
เลี้ยงดูผู้คนที่อยู่นอก "กลไกการ ตลาด"

ซึ่งว่ากันตามความเป็นจริงก็คือ แผนและนโยบายของประเทศไทยเรา  มุ่งหวังให้คน
ที่มีกระบวนทัศน์แบบ "หาอยู่หากินตามวิถีธรรมชาติ"  หมดไปโดยเร็ว
รวบรัดเข้าสู่ การบริโภคอาหาร แบบกลไกการผลิต ที่ควบคุมโดย "ทุนนิยม"
พรากคนอีสาน ออกจากทรัพยากรท้องถิ่น และ นิเวศน์ที่อุ้มชู "วิถีชีวิต"
ลบล้างอัตลักษณ์  ออกจาก "โปรแกรมความคิด"  ภูมิปัญญาบรรพบุรุษ
สู่กระบวนทัศน์แบบใหม่ เงินคือความกินดีอยู่ดี มีสุข  แม้จะแลกด้วยการ
ล้างผลาญธรรมชาติ  คดโกง เอาเปรียบ  เบียดเบียน  ทำลาย เห็นแก่ตัว
เปลี่ยนแปลงไปอย่างสุดโต่ง
ไม่ได้มองกันเป็นเหมือน "พี่น้อง" เฉกเช่นในอดีต..ดังคนอีสานเคยเป็น


เมื่อปลาอานนท์พลิกตัว แม้สิ่งสาลาสัตว์จะล้มตาย ก่ายกอง
แต่ก็เหลือมุมมอง ให้เราเห็น ว่าคนอีสาน เป็นอีสานเพราะสิ่งใด
ล่องล่องในถ้วย "กาไก่"  คือหัวใจในระบบนิเวศน์  บ้านเฮานี่เอง
............................................................................................
ปิ่นลม  พรหรมจรรย์