ผู้ท่องโลก โซ -เชี่ยว ทั้งหลาย
ทั้งผู้ที่เพิ่งเปิด มาบ ! ขึ้นมามะกี้ และผู้ที่ติดตาม
งานเขียนของบ่าวปิ่นลม
มื้อนี้ขอเสนอ อาหารอีสาน
เมนู หมกหน่อไม้ไหล่ ( หมกหน่อไม้ไผ่ป่า )
หน่อไม้ไหล่ คือ อะไรเกาะฮึ ?
หน่อไม้ไหล่ หรือบางท้องถิ่นเรียก หน่อไม้ไล่ หน่อไม้ไร่
ตามแต่ลิ้นกระดก
มันก็คือหน่อไม้ไผ่ป่า ชนิดท้องถิ่นประเภทหนึ่งนั้นเอง
ชอบเกิดตามริมหนอง ริมห้วย ริมแม่น้ำ หรือที่ราบลุ่ม
ทางอีสานเรียกว่า ทาม หรือบุ่ง ( ที่ลุ่มใกล้แม่น้ำ ) ทั่วไป
ลักษณะมีหน่อ สีเหลือง - ไปจนถึงแดง เป็นต้นไผ่หนาม
ที่มีประโยชน์ต่อนิเวศลุ่มน้ำอีกชนิดหนึ่งครับ
เป็นพุ่มหนาม กอหนา ลำต้นมี แหนงหรือกิ่งหนามเยอะ
เพื่อปกป้องหน่ออันล้ำค่าของมัน
เป็นต้นไม้ที่ชอบที่ลุ่มพอสมควร
บางท้องถิ่นก็เรียกว่า ไผ่หนาม
รายละเอียด สภาพกอไผ่ ตามภาพ
ต้นไผ่ชนิดนี้ ถือได้ว่า ใกล้สูญพันธุ์ไปจากท้องถิ่น
เพราะการพัฒนาลุ่มน้ำ ห้วยหนอง แม่น้ำ ที่ราบลุ่ม
ได้ ไถถางทิ้ง สร้างลำห้วยแปนเอิดเติด ( เหี้ยนเตียน )
ปรับเปลี่ยนระบบนิเวศลุ่มน้ำที่เคยมีไปสิ้น
ต้นไผ่ชนิดนี้ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของแผ่นดิน
สำคัญต่อสัตว์ต่างๆ ที่อาศัย ทั้ง นก หนู แมลง
ฝูงปลา ที่ธรรมชาติสร้างไว้ให้สอดคล้องกัน
วิธีทำหมกหน่อไม้ไหล่
1. การหาหน่อไม้
อุปกรณ์ก็คือ ไม้ขอเกาะ กระสอบ กะต่า เสียม ตามแต่สะดวก
ไปตามหากอหน่อไม้ ตามริมห้อย ตามทาม ( ที่ลุ่มน้ำ )
บางครั้งน้ำท่วมต้องพายเรือไป ครับ
พบเห็นกอหน่อไม้ก็ใช้สายตาอันแหลมคม ส่องหาหน่อไม้
ปกติไผ่ชนิดนี้หวงหน่อ มักปกป้องมันด้วย กิ่งหนาม
มักเกิดอยู่กลางกอ ยากแก่การเข้าถึงหล่ะครับ
เพราะรสชาติที่อร่อยที่สุดในโลกที่ 3 ในบรรดาหน่อไม้ทั้งปวง
ธรรมชาติเลยให้กิ่งหนามและระยางค์กิ่งก้านไว้ปกป้อง
แต่กระนั้นก็มีมีอีหยัง(อะไร) ทนมนุษย์ได้
บ้างก็ใช้ ขอเกาะ ( ไม้ติดตะขอคม) เกี่ยวเอาหน่อไม้
บ้างก็เอาเสียมงัดแงะ เพื่อให้ได้หน่อไม้สีทองเหล่านี้มากิน
หากท่านเป็นคนช่างสังเกตเก็บรายละเอียดสนใจสิ่งแวดล้อม
ก็จะพบบางกอมีจอมปลวก มีสัตว์ต่าง ๆ อาศัยอยู่เยอะแยะ
ทั้งหนูท้องขาว อีเกีย งูสิง นก ผึ้ง มิ้ม สารพัดสัตว์ที่อาศัยกอไผ่
พืชเถาหลายๆ ชนิดก็อาศัยกอไผ่ ผลิดอกออกผล
เลี้ยงดูแมลงและหมู่สัตว์เบื้องล่าง รากของต้นไผ่
ยึดเกาะดินป้องกัน ตลิ่งพังได้ยอดเยี่ยม ใบไผ่ที่ร่วงลง
ก้นห้วย เป็นอาหารของแมลงใต้น้ำ ปลาก็กินแมลง
รากที่ยึดเกาะลงตลิ่งห้วย เป็นที่หลบภัยของลูกปลา
และเป็นที่วางไข่ของสัตว์น้ำจืดหลายชนิด
เอาหล่ะครับ ได้หน่อไม้พอกินแล้ว ก็บ่ายหน้ากลับบ้าน
2. การเตรียมเครื่องประกอบ
- ข้าวเบีย ( ข้าวเหนียวแช่ )
- ปลาแดก ( จากแม่น้ำสงคราม )
- ใบยอป่า ( จากโคก )
- ใบยานาง ( จากค้าง )
- พริก ( จากโพน )
- ผักอีตู่ ( ใบแมงลัก )
- เสริม หมู 3 ชั้น เพื่อเพิ่มโปรตีน
3.ตัดตอง
ต้องไปตัดใบตองกล้อยมาตากแดดไว้ พอเหมาะเพื่อห่อครับ
ไปตัดตองก็ดูด้วย หากต้นไหนมีรังนก ก็ละเว้นไว้ เลือกเอา
จากนั้นก็นำมา ตากแดดไว้ให้ใบตองอ่อน สักหน่อย
ตามวิสัยทัศน์คนโบราณ เพื่อประโยชน์ใช้สอย
4. เผาหน่อไม้
นำหน่อไม้มาเผาไฟ พอให้เปลือกไหม้ เพิ่มความหอมนุ่ม
ให้กับหน่อไม้ จากนั้นก็ปอกเปลือกออก
5. การ เคี่ยนหน่อไม้
- เอาไม้จิ้มแข่ว ( ไม้จิ้มฟัน) หรือไม้ไผ่ ขีดหน่อไม้ให้แตกออกเป็นเส้น
เรียกว่า การเคี่ยนหน่อไม้ เป็นศัพท์เฉพาะทางเทคนิค
6. ต้มหน่อไม้ เพื่อให้ความขมลดลง
- เมื่อเคี่ยนเสร็จก็นำมาต้มในน้ำเดือดสัก 1 น้ำ
7. หย่องน้ำยานาง
- ระหว่างรอ ก็เอาใบย่านางมาขยี้ และคั้นเอาน้ำสมุนไพร
8. ตำข้าวเบีย
- นำข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้ มาตำใส่พริกให้ละเอียด
9. นำหน่อไม้ ที่ต้มแล้วผสมคลุกเคล้า
ระหว่างข้าวเบีย น้ำยานาง หน่อไม้ เติมน้ำปลาแดก
ปรุงรสให้พอดีนัว ( นัวส์ ) เป็นภาษาฝรั่งเศส
ซึ่งเป็นเลิศในด้านศิลปะชั้นปลายตาล
เพราะฉะนั้น ขั้นตอนนี้ต้องมีศิลปะการทำ
ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน หนักเบาตาม มโนจริต
10. นำส่วนผสมทั้งหมด มาห่อใส่ใบตอง
ใช้ศิลปะในการห่อใบตอง ประดิษฐ์ประดอย
12. เมื่อสุกก็ยกลง
- นำมาแบ่งกันกิน ตามประสาบ้านใกล้เรือนเคียง
กล่าวสรุป
หมกหน่อไม้ไหล่ เป็นอาหารทีเน้น พืชพันธุ์ท้องถิ่น
นำมาดัดแปลง คิดค้นโดยบรรพบุรุษคนอีสาน
แน่นอน โคลัมบัส ไม่เคยมาพบเห็นและไม่เคยกิน
วัสดุการปรุงทุกอย่างคือศิลปะธรรมชาติ
โดยผสมผสานภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น
บูรณาการเป็นอาหารอันมีรสชาติ
พุ่งตรสู่ความอร่อย แซบ (บ่มีแนวคือ )
หน่อไม้มีพิษร้อน ดับด้วยน้ำยานาง ข้าวสาร(ข้าวเหนียว)
แก้พิษให้เป็นกลาง ผักอีตู่ แมงลัก ลดกรดแก้ท้องอืด
พริกช่วยในการย่อยและหลั่งน้ำลาย ใบยอมีวิตามิน
ปลาแดกมีแคลเซี่ยม หมกหน่อไม้จึงเป็นอาหารดีชั้นเลิศ
ได้เรียนรู้ที่มาของอาหาร ที่มาของนิเวศ
ที่มาของฐานทรัพยากรสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร
ได้หยิบได้จับ ได้ผจญภัย ในการสืบเสาะหาของกิน
ได้เรียนรู้ประโยชน์ของธรรมชาติ
และที่สำคัญ ได้รู้จักแบ่งปัน
เสรีภาพที่จริงแท้ คือทรัพยากรธรรมชาติ
อันเป็นความมั่นคงของมนุษย์ทุกหมู่เหล่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น