วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2561

ก้อยหอยปากก้วง

สวัสดีมีชัย พ่อแม่พี่น้อง พี่ป้าน้าอา มาอีกแล้วครับ มื้อนี้บ่าวปิ่นลม มีแนวมาต้อน
นั่นคืออาหารคนอีสานแท้ ๆ แม้ไม่ทาอะไร  นั่นคือ ก้อยหอยปากก้วง
หอยปากก้วง ก็คือหอย"เชอรี่" หรือหอย อับเปหิ ที่มากับตู้ปลาผู้มีอันจะกิน
มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้  เช่น  ประเทศชิลี  อาร์เจนตินา โบลิเวีย  บราซิล 
ปารากวัย  อุรุกวัย 

ลุ่มน้ำอะเมซอน พุ้นหล่ะครับ

หอยอันนี้ แพร่กระจายขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว กัดกินพืชน้ำ พืชเกษตร
ทำลายหอยพื้นเมืองไทย สร้างความเสียหายให้หลายๆประเทศ
เนื่องจากเป็นสัตว์ต่างถิ่น กินสัมมะปิ องค์การอาหารและเกษตรสหประชาชาติ
เคยให้ทุนมาเพื่อแก้ปัญหา การรุกรานแหล่งอาหารและเกษตรกรรม
แต่ว่า ไทบ้านคือหมู่เฮา บ่รู้ดอกครับ จักอยู่หม่องได๋
หายไปกับสายลม
แต่พอมันแพร่ขึ้นไปทางภาคอีสาน  มันก็พบกับ
ยักษา ยักษ์โส  ส.กินเกลี้ยง บ่ต้องใช้งบประมาณอีหยัง
มีแต่รอยยิ้ม ไมตรี แบ่งปัน แถมเหล้าเด็ด ๆ แกล้ม
ฟาดเรียบ 
ส่วนประกอบของเมนูนี้
1.หอยปากก้วง ตามแหล่งน้ำปลอดสารพิษ
2.แม่มดแดง
3.ปลาแดกต่วง
4.ข้าวคั่ว
5. ผักบั่ว หัวซิงไค ผักหอม ผักอีเสริม (สาระแหน่)
6. พริกสด และพริกปุ่น
7.น้ำปลา   , ผงนัว
8.บักนาว (ตามแต่ชอบ)
9.เกลือสินเธาว์ จาก อ.บ้านดุง อุดรธานี

วิธีทำ
1. ล้างหอยให้สะอาด ต้มในหม้อ เหยาะเกลือ 
2.ทุบ หัวซิงไค ใส่ลงไปเพื่อดับคาว
3 ต้มไว้สัก 30 นาทีให้แม่พยาธิตาย
4. แคะเอาหัวหอย และซอยหน่อตาของหอยออก
ให้เหลือแค่หัวหอย และใส่หอย ส่วนขี้หอยส่วนท้ายให้ทิ้งไป
จะได้ "หอยถืกหลอก" ( หอยถืกต้ม)  ที่ถูกต้อง



5.เลาะหาฮังมดแดง เอาแม่มดแดงมาใช้ประโยชน์เพิ่มความเปรี้ยว
6.จากนั้นให้คลุกแม่มดแดงลงไปให้ทั่ว
8.เหยาะน้ำปลาแดก จาก อ.ศรีสงคราม นครพนม ลงไป
อ่านมาถึงตรงนี้ ลังคนก็ว่า  "พ่อใหญ่เจ้าคือบ่ลง ยูทูป โลด"
ยูทูป มันคือ มุขปาฐะ ของคนรุ่นใหม่  ซึ่งอาจทำให้ขาดมิติในการอ่าน
เมื่อ บ่อ่าน ก็ขาดการใคร่ครวญพิจารณา อ่านภาษาเจ้าของบ่ ออก
ข้อดีคือ มันเข้าใจง่าย และเน้นหนักไปที่ความบันเทิง

9.คลุกเคล้าส่วนผสมที่เหลือลงไป ปรุงรสตามจริต
10 จากนั้นก็ ตักลงมาปันพี่น้องกิน
ควรหาผักปลอดสารพิษมาแกล้ม หามิตรมากินด้วยกัน
เวลากิน อย่าคุยเรื่องการเมือง ศาสนา เงินตรา และปมด้อย
เท่านั้น เมนูนี้ก็เป็นสวรรค์บ้านทุ่ง...

ขอบคุณที่สละเวลาอ่านครับ คาราวะ

วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2560

หมกหน่อไม้ไหล่

กราบงาม ๆ พี่น้อง ผู้หนุ่มผู้สาวผู่บ่าวผู้แพว
ผู้ท่องโลก โซ -เชี่ยว ทั้งหลาย
ทั้งผู้ที่เพิ่งเปิด มาบ ! ขึ้นมามะกี้ และผู้ที่ติดตาม
งานเขียนของบ่าวปิ่นลม
มื้อนี้ขอเสนอ อาหารอีสาน
 เมนู หมกหน่อไม้ไหล่ ( หมกหน่อไม้ไผ่ป่า )



















หน่อไม้ไหล่  คือ อะไรเกาะฮึ  ?
หน่อไม้ไหล่ หรือบางท้องถิ่นเรียก หน่อไม้ไล่ หน่อไม้ไร่
ตามแต่ลิ้นกระดก
มันก็คือหน่อไม้ไผ่ป่า ชนิดท้องถิ่นประเภทหนึ่งนั้นเอง
ชอบเกิดตามริมหนอง ริมห้วย ริมแม่น้ำ หรือที่ราบลุ่ม
ทางอีสานเรียกว่า ทาม หรือบุ่ง ( ที่ลุ่มใกล้แม่น้ำ ) ทั่วไป


















ลักษณะมีหน่อ สีเหลือง - ไปจนถึงแดง เป็นต้นไผ่หนาม
ที่มีประโยชน์ต่อนิเวศลุ่มน้ำอีกชนิดหนึ่งครับ
เป็นพุ่มหนาม กอหนา ลำต้นมี แหนงหรือกิ่งหนามเยอะ
เพื่อปกป้องหน่ออันล้ำค่าของมัน
เป็นต้นไม้ที่ชอบที่ลุ่มพอสมควร
บางท้องถิ่นก็เรียกว่า ไผ่หนาม
รายละเอียด สภาพกอไผ่ ตามภาพ















ต้นไผ่ชนิดนี้ ถือได้ว่า ใกล้สูญพันธุ์ไปจากท้องถิ่น
เพราะการพัฒนาลุ่มน้ำ ห้วยหนอง แม่น้ำ ที่ราบลุ่ม
ได้ ไถถางทิ้ง สร้างลำห้วยแปนเอิดเติด ( เหี้ยนเตียน )

ปรับเปลี่ยนระบบนิเวศลุ่มน้ำที่เคยมีไปสิ้น
ต้นไผ่ชนิดนี้ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของแผ่นดิน
สำคัญต่อสัตว์ต่างๆ ที่อาศัย ทั้ง นก หนู แมลง
ฝูงปลา ที่ธรรมชาติสร้างไว้ให้สอดคล้องกัน









วิธีทำหมกหน่อไม้ไหล่
1. การหาหน่อไม้



















อุปกรณ์ก็คือ ไม้ขอเกาะ กระสอบ กะต่า เสียม ตามแต่สะดวก
ไปตามหากอหน่อไม้ ตามริมห้อย ตามทาม ( ที่ลุ่มน้ำ )
บางครั้งน้ำท่วมต้องพายเรือไป ครับ
พบเห็นกอหน่อไม้ก็ใช้สายตาอันแหลมคม ส่องหาหน่อไม้
ปกติไผ่ชนิดนี้หวงหน่อ มักปกป้องมันด้วย กิ่งหนาม
มักเกิดอยู่กลางกอ ยากแก่การเข้าถึงหล่ะครับ

เพราะรสชาติที่อร่อยที่สุดในโลกที่  3 ในบรรดาหน่อไม้ทั้งปวง
ธรรมชาติเลยให้กิ่งหนามและระยางค์กิ่งก้านไว้ปกป้อง
แต่กระนั้นก็มีมีอีหยัง(อะไร) ทนมนุษย์ได้
บ้างก็ใช้ ขอเกาะ ( ไม้ติดตะขอคม) เกี่ยวเอาหน่อไม้
บ้างก็เอาเสียมงัดแงะ เพื่อให้ได้หน่อไม้สีทองเหล่านี้มากิน

















หากท่านเป็นคนช่างสังเกตเก็บรายละเอียดสนใจสิ่งแวดล้อม
ก็จะพบบางกอมีจอมปลวก มีสัตว์ต่าง ๆ อาศัยอยู่เยอะแยะ
ทั้งหนูท้องขาว อีเกีย งูสิง นก ผึ้ง มิ้ม  สารพัดสัตว์ที่อาศัยกอไผ่


















พืชเถาหลายๆ ชนิดก็อาศัยกอไผ่ ผลิดอกออกผล
เลี้ยงดูแมลงและหมู่สัตว์เบื้องล่าง รากของต้นไผ่
ยึดเกาะดินป้องกัน ตลิ่งพังได้ยอดเยี่ยม ใบไผ่ที่ร่วงลง
ก้นห้วย เป็นอาหารของแมลงใต้น้ำ ปลาก็กินแมลง
รากที่ยึดเกาะลงตลิ่งห้วย เป็นที่หลบภัยของลูกปลา
และเป็นที่วางไข่ของสัตว์น้ำจืดหลายชนิด
เอาหล่ะครับ ได้หน่อไม้พอกินแล้ว ก็บ่ายหน้ากลับบ้าน
2. การเตรียมเครื่องประกอบ
- ข้าวเบีย ( ข้าวเหนียวแช่ )
- ปลาแดก ( จากแม่น้ำสงคราม )
- ใบยอป่า ( จากโคก )
- ใบยานาง ( จากค้าง )
- พริก  ( จากโพน )
- ผักอีตู่ ( ใบแมงลัก )
- เสริม หมู 3 ชั้น เพื่อเพิ่มโปรตีน


















3.ตัดตอง













ต้องไปตัดใบตองกล้อยมาตากแดดไว้ พอเหมาะเพื่อห่อครับ
ไปตัดตองก็ดูด้วย หากต้นไหนมีรังนก ก็ละเว้นไว้ เลือกเอา
จากนั้นก็นำมา ตากแดดไว้ให้ใบตองอ่อน สักหน่อย


ต้นกล้วยก็ปลูกไว้ตามข้างบ้านหรือหลังบ้าน
ตามวิสัยทัศน์คนโบราณ เพื่อประโยชน์ใช้สอย














4. เผาหน่อไม้
นำหน่อไม้มาเผาไฟ พอให้เปลือกไหม้ เพิ่มความหอมนุ่ม
ให้กับหน่อไม้ จากนั้นก็ปอกเปลือกออก

















5. การ เคี่ยนหน่อไม้

















- เอาไม้จิ้มแข่ว ( ไม้จิ้มฟัน) หรือไม้ไผ่ ขีดหน่อไม้ให้แตกออกเป็นเส้น
เรียกว่า การเคี่ยนหน่อไม้  เป็นศัพท์เฉพาะทางเทคนิค

6. ต้มหน่อไม้  เพื่อให้ความขมลดลง

- เมื่อเคี่ยนเสร็จก็นำมาต้มในน้ำเดือดสัก 1 น้ำ

















7. หย่องน้ำยานาง
 - ระหว่างรอ ก็เอาใบย่านางมาขยี้ และคั้นเอาน้ำสมุนไพร
















8. ตำข้าวเบีย
- นำข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้ มาตำใส่พริกให้ละเอียด


















9. นำหน่อไม้ ที่ต้มแล้วผสมคลุกเคล้า
ระหว่างข้าวเบีย น้ำยานาง หน่อไม้ เติมน้ำปลาแดก
ปรุงรสให้พอดีนัว  ( นัวส์ ) เป็นภาษาฝรั่งเศส
ซึ่งเป็นเลิศในด้านศิลปะชั้นปลายตาล
เพราะฉะนั้น ขั้นตอนนี้ต้องมีศิลปะการทำ
ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน หนักเบาตาม มโนจริต

















10. นำส่วนผสมทั้งหมด มาห่อใส่ใบตอง



















ใช้ศิลปะในการห่อใบตอง ประดิษฐ์ประดอย









































12. เมื่อสุกก็ยกลง
 - นำมาแบ่งกันกิน ตามประสาบ้านใกล้เรือนเคียง


















กล่าวสรุป

หมกหน่อไม้ไหล่ เป็นอาหารทีเน้น พืชพันธุ์ท้องถิ่น
นำมาดัดแปลง คิดค้นโดยบรรพบุรุษคนอีสาน
แน่นอน โคลัมบัส ไม่เคยมาพบเห็นและไม่เคยกิน

วัสดุการปรุงทุกอย่างคือศิลปะธรรมชาติ
โดยผสมผสานภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น
บูรณาการเป็นอาหารอันมีรสชาติ
พุ่งตรสู่ความอร่อย  แซบ (บ่มีแนวคือ )


หน่อไม้มีพิษร้อน ดับด้วยน้ำยานาง ข้าวสาร(ข้าวเหนียว)
แก้พิษให้เป็นกลาง ผักอีตู่ แมงลัก ลดกรดแก้ท้องอืด
พริกช่วยในการย่อยและหลั่งน้ำลาย ใบยอมีวิตามิน
ปลาแดกมีแคลเซี่ยม หมกหน่อไม้จึงเป็นอาหารดีชั้นเลิศ

ได้เรียนรู้ที่มาของอาหาร ที่มาของนิเวศ
ที่มาของฐานทรัพยากรสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร
ได้หยิบได้จับ ได้ผจญภัย ในการสืบเสาะหาของกิน
ได้เรียนรู้ประโยชน์ของธรรมชาติ

และที่สำคัญ ได้รู้จักแบ่งปัน 

เสรีภาพที่จริงแท้ คือทรัพยากรธรรมชาติ
อันเป็นความมั่นคงของมนุษย์ทุกหมู่เหล่า



วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2558

หนาว..LED

















ดวงตาพร่ามัวแล้ว  แม่เอย
ชราเลยสังขาร..ดังใกล้ฝั่ง
เกียกกายเกลือกกลิ้ง ประวิงหวัง
แผ่นดินยัง เหลือให้ลูกปลูกกิน

หนังยานเหี่ยวแล้ว..ลูกเอย
เรี่ยวแรงเคยแกร่งกล้า..สูญสิ้น
หาผักและหญ้าในป่ากิน
บนแผ่นดินไม่ไร้..กรุณา

ลูกเอยเลี้ยงมาจนเติบใหญ่
ฝันใฝ่ทะยานแสง บรรเจิดกล้า
เจ้าขายแผ่นดิน...สิ้นเถียงนา
โอ้ดวงตาพร่ามัว..เมื่อเที่ยงวัน


แม่อยู่บ้านหลังเดิมอันเก่า..เก่า
แม่นึ่งข้าวเป่าไฟหากินค่ำ
นอนห่มผ้าผืนบาง..บาง หนาคมคำ
อยู่ตอกย้ำ
..ลูกต้องการ แต่ราคา


ชีวิตแม่..ใกล้ลาแล้ว..ลูกรัก
ผ้าห่มหมอนแม่ถัก รอให้เจ้า
ห่มเถิดนะ...หายหนาวพอบรรเทา
เป็นเรื่องเล่าความหนาว  แสงนีออน

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

หมกไข่ปลา



แม่ไปไฮ่ เอาปิ้งไก่มาหา
แม่ไปนา หมกไข่ปลามาป้อน
แม่เลี้ยงม้อน อยู่ป่าสวนมอน
โอ้ ฮะโอว ฮะโอ้ ฮาวโอ๋..
หนึ่งบทเพลงกล่อมลูก ของชาวอีสาน ที่สะท้อนชีวิตได้เป็นอย่างดี
เป็นบทเพลงกล่อมที่มีชีวิตวิถีเปื้อนปนด้วยธรรมชาติ คลุกเคล้าด้วยระบบนิเวศ

เลี้ยงไก่อยู่ไฮ่  หาปลาอยู่นา  ทำสวนมอน เลี้ยงหม่อนไหม
ไฮ่ คือหยัง พะนะ ( พะนะ เป็นคำเสริมบท ย่อมาจาก พะนะโซนิค)
ไฮ่ (ภาษาอีสาน) แปลว่า ไร่ เด้อขะน้อย  ไร่อะไรหละ ไร่กาแฟหรือ บางคนซักไซ้
ไร่ที่ทำกันตามประสาชาวนาแต่กาลก่อน คือ ไร่ฝ้าย ไร่งา ไร่แตง ไร่ถั่ว
ทำกันที่หัวไร่ปลายนาคลุกเคล้าป่านั้นแหละครับ  ชาวนาอีสานสมัยก่อน
ไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อขายข้าวจำนำข้าว พวกเขาทำไร่ หรือเฮ็ดไฮ่ ไว้เพื่อกินอยู่
ฝ้ายเอาไว้ ทำด้าย ทำเครื่องนุ่งห่ม งาเอาไว้เป็นเครื่องปรุงอาหารและยา
แตงเอาไว้กินเป็นผักอาหาร ถั่วเอาไว้ทำขนม และกินตามจังหวะชีวิต

สำหรับสวนมักจะทำใกล้กับแหล่งน้ำ เช่นลำห้วย หนอง ปลูกสารพัด ปลูกม่อน
ปลูกอ้อย ปลูกมะม่วง กล้วย ขนุน พืชกินใบกินดอกกินผล สารพัด
เพื่อไว้ดำรงชีวิตในฤดูแล้ง หลังจากฤดูทำนา
ที่กล่าวมาคือวิถี ครับ อีสานโทนๆ
ปัจจุบัน สตีฟ จ็อบ บอกว่า " จงหิวโหย จงสิ้นหวัง "  วิถีเดิมนั้นลืมสิ้น
ไม่ได้พัฒนาต่อยอดบรรพชน แถมดูถูกอีกต่างหาก "มันสิทันกินบ้อ"
การเกษตรที่เพาะบ่มวิญญาณนั้น แทบบ่เหลือแล้ว
เว้าควมยาวมันสาวควมยืด เว้ากำพืดฝรั่งเศสสิฮ้าย เข้าเรื่องเรื่องเลยดีกว่า















ชื่ออาหารพื้นเมือง  หมกไข่ปลา
ชื่อภาษาอังกฤษ     ยังคึดบ่ออก
ชื่อภาษาไทย(กลาง)  ผ้าขี้ริ้วห่อทอง
อาหารชนิดนี้ถือว่า แซบ คัก ๆ แซบอีหลีออหลอ แซบกะด้อกะเดี้ย
เป็นอาหารที่กินตามฤดูกาลครับ ในฤดูน้ำขึ้นในอีสาน ปลาจากลำน้ำใหญ่
ขึ้นมาตามลำห้วย มาตามทาม (ทาม คือ พื้นลุ่มที่น้ำท่วมถึง  )
ชาวบ้านจับปลาได้หลากหลายชนิด หลายชนิดก็มีไข่ ติดมานำเป็นของแถมจากธรรมชาติ


วิธีประกอบอาหารเมนูนี้
1. ไส่ขี้ ปลา ( แปลไทยว่า ชำแหละท้องปลาเอาขี้ปลาและเครื่องในออก)
2. เลือกเอาจำเพาะไข่ปลา เอาขี้ปลาแยกออก ไปประกอบอาหารอีกชนิด
3.ล้างไข่ปลาให้สะอาดเตรียมไว้
4. ตัดตอง คือการไปตัดเอาตองกล้วย เน้นใบตองกล้อยทะนีออง
5.เอาไข่ปลาลงใส่ใบตอง เติมเกลือสินเธาว์จาก  อ.บ้านดุง อุดรธานี ลงนิด ๆ
6.เอาผักอีตู่ (แมงลัก) และผักหอมลงเล็กน้อย
7.เหยาะน้ำปลาแดก เพื่อความนัว
8.ห่อตอง 3 ชั้น นำไปหมกกับขี้เถ้าถ่านไฟ ให้สุก
   อาจใช้วิธีปิ้ง หรือนึ่งก็ได้ แต่หมกกับขี้เถ้าแซบกว่า
9.กล่าวคาถาบูชาแม่น้ำ " นาคะ นาคา นทีลำห้วย ควยตู้ลงทาม
   ไม้หีบมาหาม เอาตอกมามัด รึงรัดฮ่องห้วย ใบกล้วยมาวี
   มีปลามื้อนี้ แม่น้ำปันแจก ให้แลกกันกิน อย่าถมแม่น้ำ ตำไม้ใกล้ห้วย
โอมละรวยอามะภัณเต.. เอ้เล้ให้แข่น  สะหัมติด "



เมื่อสุกแล้วก็แกะออกมาได้กลิ่นหอม ทั้งใบตองและไข่ปลา
เอาข้าวเหนียวจ้ำ มีแฮง หละครับ ส่วนมากเพิ่นเอาให้เด็กน้อย
กับแม่ลูกอ่อนกิน   นี่หละหนอ อาหารแห่งนิเวศบ้านเฮา
หากแม่น้ำลำห้วยไร้ปูปลา ป่าไม้ป่าโคกสูญหาย ลำห้วยถูกม้าง
สิ่งต่างๆเหล่านี้ย่อมสูญหายไปทีละน้อย บ่เหลือความภาคภูมิ บ่เหลือเสรีภาพ